แพทย์แผนจีนมีในไทยด้วยเหรอ..?

ประวัติแพทย์แผนจีนในประเทศไทย

แพทย์แผนจีนเผยแพร่เข้ามาประเทศไทยครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่มีบันทึกไว้แน่นอน แต่อาจพออนุมานว่า ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเมื่อมีการติดต่อค้าขายกับจีนจนพบหลักฐานเป็นเครื่องสังคโลก นั้นคงจะมีการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องยาจีนมาไม่มากก็น้อย เพราะในยุคสมัยเดียวกับสุโขทัยนั้นประเทศจีนอยู่ในสมัยราชวงศ์หมิงซึ่งการแพทย์แผนจีนได้พัฒนามาเป็นเวลาหนึ่งพันกว่าปีแล้ว

จวบจนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจึงได้มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ใน “คัมภีร์โอสถพระนารายณ์” ซึ่งกล่าวถึงชื่อของแพทย์ผู้ประกอบยาทูลเกล้าฯถวายนั้นไว้ ๙ คน ในจำนวนนี้เป็นหมอต่างชาติ ๔ คน คือ เป็นหมอจีน ๑ คน หมอแขก ๑ คน และหมอฝรั่ง ๒ คน หมอจีนได้มีการบันทึกว่าชื่อขุนประสิทธิโอสถ(จีน) อีกทั้งในคัมภีร์ยังได้มีการบันทึกตัวอย่างที่มาจากต่างชาติหลายชนิด เช่น ยิงสม (โสม) โกษฐ์ต่างๆ เทียนต่างๆ โหราต่างๆ ยาดำ ชะมดเชียง มดยอบ (โม่เย่า) สีเสียดเทศ แสดงให้เห็นว่ายาจีนได้เข้าสู่สยามมาระยะหนึ่งจนได้รับการยอมรับในราชสำนักของกรุงศรีอยุธยาแล้ว

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการติดต่อและนำวัฒนธรรมของประเทศตะวันตกเข้ามา การแพทย์แผนตะวันตกหรือการแพทย์แผนปัจจุบันจึงได้เข้ามามีบทบาทในการรักษาสุขภาพในสังคมไทยมากขึ้นตามลำดับ แม้ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ จะได้มีการก่อตั้งสมาคมแพทย์จีนขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย แต่การพัฒนาอย่างรวดเร็วของแพทย์ตะวันตก กอปรกับในประเทศจีนก็มีกระแสการแอนตี้แพทย์แผนจีน ดังในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ และ ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้มีการเสนอให้มีการยกเลิกแพทย์แผนจีนจึงเกิดการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศจีนขึ้นในวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ซึ่งทำให้วันที่ ๑๗ มีนาคมของทุกปีกลายเป็น “วันแพทย์จีน” ในเวลาต่อมา อีกทั้งเมื่อประเทศจีนเกิดการเปลี่ยนการปกครอง ความขัดแย้งทางการเมืองได้ทำให้การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมหยุดชะงัก แพทย์แผนจีนในประเทศไทยจึงไม่ได้เผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง การใช้จำกัดอยู่ในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีนเท่านั้น

ภายใต้สภาวะทางสังคมเช่นนี้ กลุ่มหมอจีนในประเทศไทยจึงส่งเสริมให้บุตรหลานไปเรียนทางด้านการแพทย์และเภสัชกรรมแผนปัจจุบันเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ร้านขายยาจีนยังคงมีการรักษาไว้โดยเปิดคู่กับร้านขายยาแผนปัจจุบัน โดยเฉพาะร้านขายยาจีนที่อยู่ในย่านคนจีนที่เยาวราชและเจริญกรุงรวมทั้งตลาดในหัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีคนจีนอยู่มาก ทำให้ความรู้ด้านยาจีนและการแพทย์แผนจีนสามารถสืบทอดมาได้จนถึงปัจจุบัน

ต่อมา เมื่อประเทศจีนได้มีการเปิดประเทศและมีการเปิดสัมพันธไมตรีทางการทูตกับประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ นิทรรศการ “จีนแดง” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีนั้นได้มีการแนะนำศาสตร์อย่างหนึ่งที่ดูลึกลับแต่มีประสิทธิผลในการรักษาให้ปรากฏแก่สายตาของสาธารณชนในประเทศ นั่นคือ “ศาสตร์การแทงเข็ม” จึงทำให้เกิดการตื่นตัวในการแสวงหาความรู้และการรักษาด้วยการแทงเข็มและแพทย์จีนขึ้นมาอีกครั้ง แต่ในช่วงระหว่างปี ๒๕๑๘- ๒๕๓๘ กว่า ๒ ทศวรรษนี้ยังเป็นช่วงตกต่ำของการแพทย์แผนจีนในประเทศไทยเพราะความนิยมยังอยู่ในวงจำกัด จนเมื่อเริ่มเข้าสู่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ในทางสากลและในประเทศไทยได้เกิดความสนใจในวิถีการดูแลสุขภาพโดยวิธีธรรมชาติมากขึ้นตามลำดับ ทำให้การแพทย์แผนโบราณต่างๆ ทั้งแผนไทยและแผนจีน โภชนาบำบัด การทำสมาธิ การรำชี่กง ไท้เก๊ก โยคะ ฯลฯ ได้รับการฟื้นฟูมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมและถ่ายทอดกันอย่างกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของแพทย์แผนจีนทางกระทรวงสาธารณสุขศูนย์ความร่วมมือการแพทย์ไทย-จีนที่มี น.พ.ชวลิต สันติกิจรุ่งเรือง เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญได้ผลักดันให้มีการยอมรับศาสตร์การแพทย์แผนจีนให้สามารถทำการรักษาประชาชนไทยได้ โดยได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๕๔๒ อนุญาตให้บุคคลทำการประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

ภายใต้ประกาศฉบับนี้แพทย์จีนที่อยู่ในประเทศไทยได้เข้ารายงานตัวและทำการทดสอบไปเป็นจำนวน ๔ รุ่น โดยมีการส่งผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันแพทย์จีนแห่งชาติของจีนมาเป็นผู้ทำการอบรมและดำเนินการสอบ รุ่นที่ ๑ เป็นแพทย์จีนที่เรียนจบหลักสูตร ๕ ปีจากสถาบันในประเทศจีนที่กระทรวงรับรองได้รับการอนุญาตในปี ๒๕๔๓ รุ่นที่ ๒-๔ เป็นแพทย์จีนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษหรือผู้มีประสบการณ์ได้รับการอนุญาตในปี ๒๕๔๔- ๒๕๔๖ ตามลำดับ มีผู้ผ่านการทดสอบและได้รับใบอนุญาตทั้ง ๔ รุ่น จำนวนทั้งสิ้น ๒๑๕ คน

ในส่วนของแพทย์แผนปัจจุบันได้มีการจัดอบรมหลักสูตรฝังเข็มระยะสั้น ๓ เดือนให้กับแพทย์ ถึงปัจจุบันมีแพทย์ที่ผ่านการอบรมไปแล้ว ๑๔ รุ่น จำนวน ๖๐๐ กว่าคน ในส่วนของการเรียนการสอน ได้มีสถาบันที่เปิดการสอนแพทย์แผนจีนขึ้นในประเทศไทย ๒ แห่ง ได้แก่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม ทำให้ในอีก ๑-๒ ปีข้างหน้าจะมีบัณฑิตแพทย์แผนจีนเข้าสู่งานด้านสาธารณสุขของประเทศปีละ ๕๐-๑๐๐ คนต่อไป

การแพทย์แผนจีนในประเทศไทยได้ผ่านประวัติอันยาวนาน ปัจจุบันกำลังก้าวเข้าไปสู่การรักษาที่มีมาตรฐานยิ่งขึ้น ในการเรียนการสอนมีการพัฒนาไปสู่การเรียนในระดับอุดมศึกษา อีกทั้งมีแพทย์แผนปัจจุบันสนใจเข้ามาศึกษาอบรมศาสตร์การแพทย์แผนจีน ทั้งการแทงเข็มและการใช้ยาจีนมากขึ้นตามลำดับ ในส่วนราชการเองก็ให้การสนับสนุนโดยจัดให้มีกฎหมายรองรับเพื่อพัฒนาการรักษาให้เข้าสู่ระบบและมีมาตรฐานยิ่งขึ้น แพทย์แผนจีนจึงเป็นการแพทย์อีกหนึ่งสาขาที่จะช่วยเสริมการบริการสาธารณสุขของประเทศไทย ตามปรัชญาของจีนที่ว่า “ฉี่ว์ฉางปู่ต่วน” หรือ “นำส่วนที่ดีมาส่งเสริมให้แก่กัน” ต่อไป

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น