แพทย์แผนโบราณที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

การแพทย์แผนโบราณของไทยที่สืบต่อถึงปัจจุบัน โดย นายแพทย์สุด แสงวิเชียร

เท่าที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าการแพทย์ของไทยโบราณ แม้จะได้รับความรู้มาจากประเทศที่ก้าวหน้าไปบ้างในทางการแพทย์ เช่นประเทศอินเดียและประเทศจีน ความรู้ที่ได้มาดูจะหนักไปในการรักษาทางยา มากกว่าวิชาการทางศัลยกรรม เพราะผู้ที่จะเป็นศัลยแพทย์ได้ดีจำเป็นจะต้องมีความรู้เรื่องร่างกายของมนุษย์ดีด้วย เมื่อความรู้ทางพื้นฐานไม่แน่นพอ การที่นำวิชาการไปถ่ายทอดต่อไปจึงไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ เข้าใจว่าการรักษาโรคภัยไข้เจ็บในสมัยสุโขทัยคงเป็นการรักษาโดยใช้ยาเป็นวิธีการที่สำคัญ แม้กระนั้นเท่าที่ได้สืบค้นมาถึงขณะนี้ ยังไม่พบบันทึกใดที่เกี่ยวกับการใช้ยาหรือวิธีการใดในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บในสมัยสุโขทัยหรือก่อนหน้านั้น แต่มีหลักฐานอยู่ประการหนึ่งซึ่งยังเป็นที่โต้เถียงกันมาก คือได้พบแผ่นหินที่มีช่องเจาะและมีรอยเท้า ๒ ข้างเหมือนฝาปิดส้วมซึมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ขณะนี้ชิ้นหนึ่งยังตั้งแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติรามคำแหงจังหวัดสุโขทัย นายแพทย์สำราญ วังสพ่าห์ เข้าใจว่าเป็นฝาส้วมจริงๆ ถ้าเป็นจริงก็แสดงว่าประชาชนในกรุงสุโขทัย มีความก้าวหน้าในเรื่องสุขภาพอนามัยยิ่งกว่าชาวชนบทในปัจจุบัน คือรู้จักควบคุมอุจจาระไม่ให้แพร่กระจาย อันเป็นสาเหตุของโรคที่พบในปัจจุบันหลายโรค แต่บางท่านก็ไม่เชื่อ กลับไปอธิบายว่าเป็นฐานรองรับศิวลึงค์ในลัทธิฮินดู ผู้เขียนทดลองไปนั่งดู เท้าทั้งสองข้างวางได้ที่ แต่เกิดสงสัย เพราะถ้าถ่ายอุจจาระจริงๆ อุจจาระจะเลยรูที่เจาะไว้

การแพทย์ที่ใช้อยู่ในสมัยสุโขทัยคงสืบต่อมาจนถึงสมัยอยุธยา และอาจสืบต่อมาถึงปัจจุบันด้วย เพราะตำรายาไทยที่พบและใช้มากมายก็เป็นตำรับที่สืบต่อกันมา ไม่สามารถจะกล่าวได้ว่าได้มีผู้ใดตั้งตำรับประสมยาขนานใดขนานหนึ่งขึ้นใหม่ แต่ตำรับยาแต่ละตำรับก็สืบเนื่องกันมาตามการอบรมการเป็นแพทย์ในสมัยนั้นๆ คือการแพทย์แผนโบราณ ไม่ปรากฏมีโรงเรียนและมีหลักสูตรแน่นอน การจะเป็นแพทย์ก็คือเข้าไปฝึกฝนกับอาจารย์คนใดคนหนึ่งโดยตรง แบบชีวกโกมารภัจจ์ที่เดินทางไปศึกษาที่เมืองตักกสิลา ศึกษากับอาจารย์คนใดคนหนึ่งตามความรู้ความชำนาญของอาจารย์คนนั้น ซึ่งผิดกับการอบรมแพทย์ตามแผนปัจจุบันมาก เพราะเมื่อได้จำแนกวิชาลงไปแล้ว โรงเรียนแพทย์แผนปัจจุบันก็หาอาจารย์มาสอนเฉพาะแขนงวิชานั้นๆ ไม่ได้มอบหมายศิษย์คนใดคนหนึ่งกับอาจารย์ท่านใดท่านหนึ่งอบรมสั่งสอนตลอด หลักสูตรของการเรียนแพทย์ แพทย์ที่เป็นอาจารย์จึงอาจฝึกฝนในวิชาของตนให้มีความรู้กว้างขวางขึ้น แต่ก็ไม่อาจจะรู้ไปทุกแขนงวิชาของการแพทย์ ความรู้อาจจะก้าวหน้าจริงตามความสามารถ ความชำนาญและการสืบสวนค้นคว้าของอาจารย์ แต่ก็ไม่สามารถถ่ายทอดวิชาที่ตนรู้ทั้งหมดแก่ศิษย์คนใดคนหนึ่งได้ เพราะเขาจะไปเล่าเรียนกับอาจารย์คนอื่นๆ ในแขนงวิชาต่างๆ จนจบหลักสูตรการแพทย์ ต่อจากนั้นจึงจะมาเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่งตามความสมัครใจของศิษย์ผู้นั้นภายหลังเมื่อสำเร็จแพทย์แล้ว แม้ในหนังสือบางเล่มจะกล่าวถึงวิธีการเรียนแพทย์แผนโบราณว่า คล้ายการแพทย์แผนปัจจุบัน คือ มีการเพ่งเล็งสมุฏฐานของโรคว่า คือสาเหตุการเกิดโรคในการทายโรคและวินิจฉัยโรค แต่การแพทย์แผนปัจจุบันแม้จะศึกษาสาเหตุของการเกิดโรคเช่นกัน แต่ก็พิจารณาการเป็นโรค นอกจากสาเหตุแล้วยังพิจารณาอวัยวะที่เป็นโรคไปพร้อมกันด้วย สมุฏฐานของโรคในการแพทย์แผนโบราณไม่ได้เพ่งเล็งที่อวัยวะหรือแม้จะเพ่งเล็งก็น้อยมาก ฉะนั้นจึงจัดสมุฏฐานออกเป็น ธาตุสมุฏฐาน คือ สมุฏฐานของการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนของธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน (ปัถวีธาตุ) ธาตุน้ำ (อาโปธาตุ) ธาตุลม (วาโยธาตุ) และธาตุไฟ (เตโชธาตุ) แม้จะมีฤดูสมุฏฐาน คือ สาเหตุจากความเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ อายุสมุฏฐาน คืออายุของบุคคลมีความโน้มเอียงที่จะเกิดโรคต่างๆ ได้ และ กาล สมุฏฐาน คือ โรคซึ่งเกิดขึ้นตามเวลาแห่งวัน ทั้ง ๓ สมุฏฐานที่ กล่าวก็เป็นเพียงข้อปลีกย่อยที่นำไปประกอบธาตุสมุฏฐานทั้ง ๔ ดังตัวอย่างที่ย่อจากคู่มือการศึกษาวิชาเวชกรรม (พ.ศ. ๒๕๑๓) ต่อไปนี้

กองที่ ๒ กองอุตุสมุฏฐาน (ฤดูสมุฏฐาน) แปลว่า ฤดูเป็นที่ตั้งที่ แรกเกิดของโรค แบ่งออกเป็น ๓ หมวด ...... หมวดที่ ๒ ในปีหนึ่ง แบ่ง ๔ ฤดู เป็นฤดูละ ๓ เดือน ฤดูที่ ๑ นับจากขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ เดือน ๖ ถึงสิ้นเดือน เป็นสมุฏฐานเตโชธาตุ ...... หมวดที่ ๓ ในปีหนึ่งแบ่ง ๖ ฤดู เป็นฤดูละ ๒ เดือน ฤดูที่ ๕ นับจากแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ถ้าเป็นไข้เป็นเพื่อวาโย ธาตุ เสมหะและปัสสาวะ

กองที่ ๓ กองกาละสมุฏฐาน แบ่งออกเป็น ๔ ตอน (ยาม)... ตอนที่ ๔ เวลากลางวัน นับแต่ ๑๕.๐๐ น. ถึง ๑๘.๐๐ น. เวลากลางคืน นับตั้งแต่ ๐๓.๐๐ น. ถึง ๐๖.๐๐ น. เป็นสมุฏฐาน วาโยธาตุ

จากตัวอย่างดังกล่าวธาตุทั้ง ๔ คือธาตุสมุฏฐานจึงเป็น รากฐานในการแพทย์แผนโบราณของไทย

ปัถวีธาตุ เป็นที่ตั้งที่แรกเกิดของโรคมี ๒๐ อย่าง
๑. เกษา (ผม)
๒. โลมา (ขน)
๓. นขา (เล็บ)
๔. ทันตา (ฟัน)
๕. ตะโจ (หนัง)
๖. มังสัง (เนื้อ)
๗. นหารู (เส้น-เอ็น)
๘. อัฐิ (กระดูก)
๙. อัฐมัญชัง (เยื่อในกระดูก)
๑๐. วักกัง (ม้าม)
๑๑. หทยัง (หัวใจ)
๑๒. กิโลมกัง (พังผืด)
๑๓. ยกนัง (ตับ)
๑๔. ปัทถัง (ไต)
๑๕. ปับผาสัง (ปอด)
๑๖. อันตัง (ลำไส้ใหญ่)
๑๗. อันตคุนัง (ลำไส้น้อย)
๑๘. อุทริยัง (อาหารใหม่)
๑๙. กรีสัง (อาหารเก่า)
๒๐. มัตถเกมตถลุงกัง (มันสมอง)

อาโปธาตุ เป็นที่ตั้งที่แรกเกิดของโรค ๑๒ อย่าง
๑. ปิตตัง (น้ำดี)
๒. เสมหัง (น้ำเสลด)
๓. ปุพโพ (น้ำหนอง)
๔. โลหิตัง (น้ำโลหิต)
๕. เสโท (น้ำเหงื่อ)
๖. เมโท (น้ำมันข้น)
๗. อัสสุ (น้ำตา)
๘. วสา (น้ำมันเหลว)
๙. เขโฬ (น้ำลาย)
๑๐. สังฆานิกา (น้ำมูต)
๑๑. อสิกา (น้ำมันไขข้อ)
๑๒. มุตตัง (น้ำปัสสาวะ)

วาโยธาตุ เป็นที่ตั้งที่แรกเกิดของโรค ๖ อย่าง
๑. อุทธังคมาวาตา (ลมพัดขึ้น)
๒. อโธคมาวาตา (ลมพัดลง)
๓. กุจฉิสยาวาตา (ลมในท้อง)
๔. โกฏฐานยวาตา (ลมในลำไส้)
๕. อังมังคานุสาริวาตา (ลมพัดในกาย)
๖. อัสสาสะ ปัสสะวาตา (ลมหายใจ)

เตโชธาตุ เป็นที่ตั้งที่แรกเกิดของโรค ๔ อย่าง
๑. สันตัปปัคคี (ไฟสำหรับอบอุ่นกาย)
๒. ปริทัยหัคคี (ไฟสำหรับร้อนระส่ำระสาย)
๓. ธิรถอัคคี (ไฟสำหรับเผาให้ แก่คร่ำคร่า)
๔. ปริณามัคคี (ไฟสำหรับย่อยอาหาร)

รวมเป็นที่ตั้งและที่เกิดของโรค ๔๒ อย่าง แต่คำอธิบายค่อนข้างจะสับสน ทำให้ยากต่อการเรียนตามความเข้าใจของแพทย์ที่เรียนแต่การแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น มีผู้ป่วยเป็นปัถวีธาตุ พิการที่ยกนัง (ตับ) ตำราแผนโบราณอธิบายไว้ว่า ถ้ายกนังพิการ ให้ตับโต ตับย้อย ตับช้ำ ตับแข็ง และ เป็นฝีที่ตับ แต่ไม่บอกอาการอย่างอื่น กลับมากล่าวถึงอาโปธาตุพิการ ที่ปิตตัง (น้ำดี) เมื่อพิการให้ปวดศีรษะ ตัวร้อน สะท้านร้อน สะท้านหนาว ตาเหลือง ปัสสาวะเหลือง จับไข้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการดังที่ได้อธิบายมา ถ้าเป็นแพทย์แผนโบราณก็ต้องให้การรักษาธาตุที่พิการถึง ๒ ธาตุ คือ ปัถวีธาตุและอาโปธาตุ คือพิการทั้งตับและน้ำดี แต่ การแพทย์แผนปัจจุบันถืออาการที่เกิดจากการผิดปกติของน้ำดี เช่น มีจับไข้ ตัวร้อน สะท้านร้อน สะท้านหนาว ตาเหลือง ปัสสาวะเหลือง มีตับเป็นสาเหตุ การรักษาก็มุ่งหน้าไปที่ตับแห่งเดียว เมื่อตับดีขึ้น อาการที่เกิดจากน้ำดีก็พลอยกลับไปปกติด้วย

ขอลอก "ยาแก้ดีกำเริบ" ซึ่งปรากฏอยู่ใน "ตำราพระโอสถพระนารายณ์" มาให้ดูเป็นตัวอย่าง ตำราพระโอสถนี้ หมอหลวงได้ประกอบถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็น ยาหลายขนาน ปรากฏชื่อหมอและมีวันคืนที่ได้ตั้งพระโอสถนั้นๆ จดไว้ชัดเจนว่าอยู่ในระหว่างปีกุน จุลศักราช ๑๐๒๑ (พ.ศ. ๒๒๐๒) ถึงปีฉลู จุลศักราช ๑๐๒๓ (พ.ศ. ๒๒๐๔) คือ ระหว่างปีที่ ๓-๕ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตำราพระโอสถทั้งปวงนี้ พึ่งรวบรวมเข้าคัมภีร์ในชั้นหลัง อยู่ในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ หรือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
อนึ่งลักษณะดีกำเริบ ดีรั่ว ดีค่น ย่อมให้จักษุเหลือง จักษุเขียว อุจจาระปัสสาวะเนื้อก็เหลือง ให้ใจน้อย มักโกรธมักขลาด เจรจาด้วยผี ละเมอเพ้อพกคลั่งไคล้ไหลหลง เพศดังนี้ให้เร่งยาฉับพลัน
ถ้ามิถอยล่วงเข้าตรีโทษได้ จะกลายเป็นลมอัมพาต ลมราทยักษ์ ลมวิหค กำหนดยามิต้อง ๗ วันตาย
ถ้าจะยาไซ้ให้เอา หอมแดง รากขี้กาแดง รากสะอึก แก่นสนสมอไทย บรเพ็ด เสมอภาค สิ่งละตำลึง ต้ม ๔ เอา ๑ กินแก้ดีกำเริบหายแล
ถ้ามิถอยให้เอาแก่นจันทร์ กรุงเขมา แก่นสน กะพังโหม ทั้งใบทั้งรากเสมอภาค ต้ม ๔ เอา ๑ กินหายแล
ถ้าไข้นั้นให้ร้อนกระหายน้ำนัก เอาจันทร์ขาว ใบพลูแก ขิง ขันทศกร เสมอภาค ทำเป็นจุณละลาย น้ำดอกไม้เป็นกระสาย ทั้งบดละลายกิน รำหัด พิมเสนด้วย แก้ร้อนแก้กระหายน้ำแล
ถ้ามิถอยให้เอาเปลือกมะรุม ขมิ้นอ้อย พรรณผักกาดเสมอภาค น้ำดอกไม้เป็นกระสาย บดละลายกินแก้ร้อน แก้
กระหายน้ำหายแล
ถ้ามิถอยให้เอา น้ำอ้อยสด น้ำใบผักเป็ด พริกไทยรำหัดน้อยหนึ่ง กินแก้ร้อนแก้กระหายน้ำหายแล
ถ้ามิถอยให้เอา ชานอ้อย กำยาน แก่นปูนกรักชีกากรมหม้อใหม่ใส่น้ำไว้ จึงเอาดินสอพองเผาให้สุกใส่ลงในหม้อน้ำนั้น ให้คนไข้กินเนืองๆ แก้ร้อนแก้กระหายน้ำหยุดแล


เท่าที่คัดมาให้ดูนี้ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ยาไทยให้แก้ตามอาการมากกว่าการรักษาต้นเหตุเช่นการแพทย์แผนปัจจุบัน โรคที่แพทย์แผนปัจจุบันแน่ใจว่าไม่สามารถจะรักษาให้หายได้ ก็ไม่มีทางพยุงน้ำใจผู้ป่วยหรือปลอบใจญาติผู้ป่วยได้ดีเท่าการแพทย์แผนโบราณ เพราะมียาแก้อาการตั้งแต่น้อยไปหามาก
สาเหตุที่ยาไทยขาดความศักดิ์สิทธิ์ลง อาจมีสาเหตุ ๒ ประการ ประการหนึ่งคือ บิดผันไม่บอกเล่าตัวยาที่เป็นจริงแก่กัน ดังตัวอย่างข้างล่างนี้
ในสมัยอยุธยามีหลักฐานการใช้ยาฝรั่งอยู่ในหนังสือ "ตำราพระโอสถพระนารายณ์" ขนานที่ ๗๘ ว่า
ขนานที่ ๗๘ น้ำมันมหาจักร ให้เอาน้ำมันงาทนาน ๑ ด้วย ทนาน ๖๐๐ มะกรูดสด ๑๐ ลูก แล้วจึงเอา ....... เพลิงขึ้น รุมเพลิงให้ร้อน เอาผิวมะกรูดใส่ลงให้เหลืองเกรียมดีแล้ว ยกลงกรองกากให้หมดเอาไว้ให้เย็น จึงเอาเทียนทั้ง ๕ (เทียนดำ เทียนแดงเทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั้กแตน) สิ่งละ ๒ สลึง ดีปลีบาท ๑ การบูร ๒ บาท บดจงละเอียดปรุงลงในน้ำมันนั้น ยอนหู แก้ลมแก้ริดสีดวง แก้เปื่อยคันก็ได้ ทาเมื่อยขบก็ได้ ใส่บาดแผลเจ็บปวดเสี้ยนหนามหอกดาบก็ได้ หายแล แต่อย่าให้ถูกน้ำ ๓ วัน มิเป็นปุพโพเลย ฯ

พิจารณาตามที่พรรณนาก็รู้สึกว่าว่ายาขนานนี้เป็นยาทาภายนอก แต่เหตุที่ใช้เทียนทั้ง ๕ ประสมลงไป เพราะเทียนทั้ง ๕ มีสรรพคุณภายใน คือ เทียนดำ มีสรรพคุณแก้ลมอัน บังเกิดแก่กองสมุฏฐาน ทำลายเสมหะอันผูกเป็นก้อนอยู่ในท้อง แก้โลหิตได้สมบูรณ์ เทียนแดง แก้เสมหะลมตีระคนกันซึ่งเรียกว่า สันนิบาต แก้ลมอันเสียดแทงในลำไส้ แก้ลมคลื่นเหียน เทียนขาว แก้ลมทั้งปวง ทำลายเสมหะอันผูก แก้นิ่วและมุตกิด เทียนตาตั้กแตน แก้ธาตุ ทำลายเสมหะ โลหิตกำเดาอันพิการ ให้สมบูรณ์ เทียนข้าวเปลือก ทำลายลมอันระคนกับเสมหะ แก้ลมในกองอำมพฤกษ์
นอกจากการบิดเบือนความจริงแล้ว สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ตำรายาไทยสูญหายไปมากและบางตำรับก็ใช้ไม่
ได้ผล ก็คือการปิดบังจนตำราสูญหายหรือมิฉะนั้นก็ทำลายต้นตอเสีย ไม่ให้ใครคัดลอกต่อไป
ประการสุดท้ายเป็นเพราะ ขาดการรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความชำนาญ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างดีจะอยู่ในสมัยใกล้กับปัจจุบัน คือ สมัยที่มีการสร้างโรงศิริราชพยาบาล เมื่อสร้างเสร็จแล้วหาหมอยาไทยหรือหมอแผนโบราณมาประจำไม่ได้ เพราะแพทย์หลวงที่มีความชำนาญไม่ยอมรับมาประจำ เป็นแพทย์และเป็นอาจารย์ในโรงพยาบาล เหตุที่ไม่ยอมมาเพราะวิธีการรักษาและการใช้ยาต่างครูต่างอาจารย์ ไม่อาจรวมกันได้ ไม่สามารถจะแลกเปลี่ยนความรู้และความชำนาญของแต่ละคนที่มีสู่ซึ่งกันและกันได้



กะ


เทียนดำ


เทียนแดง

[ดูภาพทั้งหมดในเรื่องนี้]

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

รูปภาพเกี่ยวกับการแพทย์

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

ความรู้การแพทย์ที่น่าสนใจ

มีลูกแฝดลดการเป็นมะเร็งเต้านม


คุณเห็นชื่อเรื่องแล้วอาจจะต้องตาโตด้วยความสงสัยว่า แม่ที่มีลูกแผดสามารถลดอัตราเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านมได้จริงหรือ

ศูนย์วิจัยมะเร็ง (The Imperial Cancer Research Fund) ได้ทำการศึกษาโดยติดตามคุณแม่ชาวสวีเดน พบว่า คุณแม่ที่มีลูกแฝดมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งเต้านมน้อยกว่าคุณแม่ที่มีลูกคนเดียวถึง ๑ ใน ๓ และดร.ไมค์ เมอร์ฟี (Dr.Mike Murphy) ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยของออกฟอร์ด (The General Practice Research Group in Oxford) บอกว่า แม่ที่อายุมากว่า ๕๐ ปี และมีลูกแฝดมีอัตราการเป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่าแม่ที่มีลูกคนเดียวถึงร้อยละ ๒๙ เหตุผลหนึ่ง น่าจะมาจาการที่มีลูกแฝดทำให้ฮอร์โมนหลั่งออกมามากกว่าปกติในอนาคตคงจะสามารถหาทางศึกษาถึงสาเหตุได้ งานนี้คุณแม่ที่มีลูกแฝด ยิ้มเลยซิคะ

อาหารว่างกับความเครียด
มีรายงานออกมาว่าอาหารว่างที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง โปรตีนต่ำ จะช่วยลดความเครียดและปรับสมดุลของอารมณ์ เนื่องจากสมองจะหลั่งสารซีโรโทนินเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ร่างกายเพิ่มความผ่อนคลาย นอนหลับสนิท อาหารว่างที่ช่วยให้ระดับน้ำตาลสมดุลและมีผลให้อารมณ์เกิดความสมดุลเป็นปกติ เช่น

- กล้วย องุ่น แอปเปิ้ล

- ผักที่กินสดๆ ได้

- ขนมปังกรอบ (บิสกิต) ที่ไม่หวานหรือมันมาก

- โยเกิร์ตพร่องไขมันที่ไม่หวาน

ส่งเสริมการจัดจำของลูกน้อย
ในระหว่างปิดเทอมเด็กๆ มักจะลืมเรื่องที่เคยทำในโรงเรียนไปในเวลาไม่กี่สัปดาห์ เรื่องนี้ แฮร์ริส คูเปอร์ (Harris Cooper) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิสซูรี (University of Missouri) อธิบายว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ในระหว่างปิดเทอมเด็กๆ จะลืมเรื่องที่เคยทำในโรงเรียน เด็กมักจะลืมทักษะทางด้านคณิตศาสตร์และการสะกดตัวอักษร ส่วนเรื่องการอ่านจะมีผลเพียงเล็กน้อย เพราะ ในระหว่างปิดเทอมเด็กๆ ยังพอจะได้อ่านหนังสืออยู่บ้าง แต่สำหรับคณิตศาสตร์และการสะกดคำนั้นเด็กจะได้ฝึกเฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น

ในระหว่างปิดเทอมหากคุณพ่อคุณแม่กลัวลูกจะลืมก็กระตุ้นลูกได้นะคะ แต่ระวังอย่าเป็นการเคี่ยวเข็ญจนเด็กรู้สึกว่าถูกบังคับ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการต่อต้านขึ้น ทางที่ดีควรหาวิธีที่ทำให้เขารู้สึกสนุกสนานในการฝึกจะดีกว่า เช่น เวลาไปจ่ายตลาดก็พาลูกไปด้วยแล้วให้เขาฝึกบวกลบในการจ่ายเงิน ทอนเงิน หรือฝึกให้เขาสะกดชื่อสิ่งของที่จะซื้อจะทำให้เขารู้สึกสนุก ไม่น่าเบื่อ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

สุดยอดการเป็นหมอ

เพื่อนๆคิดว่าสุดยอดของการเป็นหมออยู่ที่ไหนครับ

รักษาโรคยากๆได้? ยื้อชีวิตของคนที่จะจากเราไปให้อยู่แม้เพียงเฮือกหนึ่ง? ถวายตัวอยู่กับคนไข้ตลอด 24 ชม.?

เคยอ่านนิยายกำลังภายในกันไหมครับ เป็นหนึ่งในงานวรรณกรรมที่ผมชอบมากเลยครับ โดยเฉพาะเวลาฉากที่กำลังจะต่อสู้กัน ถ้าสนใจจะเริ่มอ่านขอแนะนำฤทธิ์มีดสั้นของโกวเล้งครับ



"มีดสั้นในมือของลี้คิมฮวงนั้นหากปล่อยออกจากมือไม่เคยพลาดเป้ามาก่อน" เพียงแค่คำเล่าลือนี้ก็สามารถสะกดศิษย์วัดเสี้ยวลิ่มยี้แปดร้อยคนที่โอบล้อมเขาไว้ให้ไม่กล้าแม้กระทั่งผ่อนลมหายใจ


ลี้คิมฮวงเพียงแค่ถือมีดไว้ในมือเล่มเดียวทว่าชนะตั้งแต่ยังไม่ทันได้ออกกระบวนท่าเสียด้วยซ้ำครับ


ที่ร่ายมานี้เพียงเพื่อที่จะบอกว่ายอดฝีมือสามารถช่วงชิงชัยได้โดยไม่แม้แต่ออกกระบวนท่า เป็นชัยชนะที่ไม่ต้องเปลืองแรงเลยสักนิด แต่กว่าจะมีความสำเร็จถึงขั้นนี้ได้ต้องมีการฝึกฝนมาอย่างยาวนาน ใช่เพียงหัดเล่นๆชั่วค่ำคืน


นี่แหละครับที่ทำให้ผมคิดว่า
สุดยอดของการเป็นหมอคือการไม่ต้องรักษาคนไข้ครับ ไม่จำเป็นต้องใช้มีดผ่าตัด จับชีพจร ฝังเข็มหรือว่าจ่ายยา

รักษาโรคโดยไม่ต้องออกกระบวนท่าใดๆ หรือก็คือการป้องกันก่อนเกิดโรคนั่นเอง

ที่จะเน้นให้เห็นก็คือ การรักษาโรคที่เกิดขึ้นโดยไม่เปลี่ยนพฤติกรรมของคนไข้ เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ต่อให้เป็นหมอจีนที่พยายามปรับร่างกายแบบองค์รวมก็เถอะ เพราะเมื่อเรารักษาคนไข้จนหายโดยไม่เปลี่ยนพฤติกรรมของคนไข้นั้น เชื่อได้เลยครับว่าเดี๋ยวเราก็จะได้เจอกันอีก

และหนึ่งในพฤติกรรมที่ผมว่าคนไทยส่วนใหญ่ทำผิดมากที่สุดคือเรื่องของการดื่มน้ำนี่แหละครับ

ลองทำแบบทดสอบกันสักนิดก่อนอ่านต่อดีไหมครับ

1. คุณมีความเชื่อที่ว่าน้ำยิ่งดื่มเยอะยิ่งดีหรือไม่

2. คุณดื่มน้ำวันละกี่แก้ว

3. น้ำที่ดื่มเป็นน้ำเย็น, น้ำธรรมดา หรือว่าน้ำอุ่น

4. ดื่มน้ำช่วงเวลาไหนเป็นพิเศษไหม เช่น ดื่มตอนเช้า ดื่มระหว่างทานข้าว ดื่มก่อนนอน เป็นต้น

5. ปกติดื่มอะไร เช่น น้ำเปล่า น้ำอัดลม ชา กาแฟ เป็นต้น

เราเฉลยกันไปทีละข้อๆพร้อมอธิบายละกันครับ พร้อมที่จะรู้ความผิดของตัวเองหรือยังครับ



.

.



ข้อหนึ่งนั้น เป็นความเชื่อที่ผิดครับ ทุกอย่างต่างมีคุณและมีโทษ ต้องหาจุดสมดุลของมันครับ น้ำดื่มมากเกินไปกลับไม่ดีเสียอีกครับ เดี๋ยวผมจะมีสูตรให้คำนวณว่าวันหนึ่งเพื่อนๆควรดื่มน้ำแค่ไหน



.



ข้อสอง คิดว่าทุกคนคงเคยเรียนกันมาอยู่แล้วว่าคนเราวันหนึ่งควรทานน้ำวันละ
8-10 แก้ว ว่าแต่ทำได้อย่างที่เรียนมาหรือเปล่าครับ

ผมจะอธิบายให้ฟังว่า น้ำในร่างกายของเรามีที่มาที่ไปอย่างไรก่อน

น้ำที่เข้าสู่ร่างกายเรามาจากน้ำ และอาหารที่ทานเข้าไปเป็นหลัก ส่วนน้ำจะออกจากร่างกายทางปัสสาวะ อุจจาระ เหงื่อ และทางลมหายใจ แต่ปัสสาวะเป็นเส้นทางหลักครับ

คนเราจำเป็นต้องปัสสาวะออกจากร่างกายอย่างน้อย 500 มิลลิลิตรต่อวัน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายได้หมด นอกจากนี้อีกสามทางที่เหลือโดยเฉลี่ยก็จำเป็นต้องใช้น้ำอีกราว1000 มิลลิลิตร หรือ 1ลิตร ต่อวัน

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว คนเราจึงต้องดื่มน้ำเพื่อชดเชยส่วนที่ออกจากร่างกายทุกวันราว 1500 มล. หรือ 7-8 แก้ว (แก้วละ 200 มล.) แต่ทังนี้ทั้งนั้นตัวเลขนี้ก็ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคนครับ ผมเลยมีสูตรมาให้คิดกันคร่าวๆว่าวันหนึ่งเราต้องทานน้ำปริมาณเท่าไรจึงจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

สูตรคือ (น้ำหนักตัว(กก.) x 2.2 x 30) / 2

หน่วยที่ได้ออกมาเป็นมิลลิลิตรครับ เช่น หนัก 60 กก. เอาเข้าแทนค่าก็จะได้

ควรดื่มน้ำ (60 x 2.2 x 30) / 2 = 1980 มล. หรือประมาณ 10 แก้วต่อวันครับ

ถ้าเราดื่มน้ำน้อยกว่านี้ เลือดซึ่ง 90%ทำมาจากน้ำก็จะเดินไม่สะดวก ร่างกายก็จะทั้งขับของเสียยาก ขณะเดียวกันสารอาหารในเลือดก็ส่งไปถึงร่างกายช้า ทางแพทย์จีนถ้าเกิดเลือดลมเดินไม่สะดวกนี่เป็นบ่อเกิดสารพัดโรคเลย บางคนบอกว่าประจำเดือนมาน้อยหรือไม่มา มาเป็นลิ่มเลือด สีเข้ม หนืด ปวดประจำเดือนก็แหงละครับ น้ำไม่กินจะเอาที่ไหนไปสร้างเลือดละครับ แต่ถ้าทานน้ำมากกว่านี้ก็เป็นผลเสียต่อร่างกายอีกเหมือนกัน ทำอะไรก็ต้องพอดีๆครับ



.



ข้อสามอย่างที่เคยบอกไปตั้งแต่อาการขี้หนาวนะครับว่าน้ำเย็นเป็นของต้องห้ามสำหรับร่างกาย กระเพาะเมื่อเจอของเย็นเข้าไปการทำงานจะด้อยลงทันที
เกิดเป็นอาหารไม่ย่อย อาหารบูดเน่าหมักหมมอยู่ในกระเพาะและลำไส้ ลำไส้ก็ดูดซึมของเสียจากกากอาหารพวกนี้กลับเข้าสู่เส้นเลือดต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะถ่ายอุจจาระออกจากร่างกายของเรา

เพราะฉะนั้นเราควรจะไม่ทานของเย็นๆครับ ทานน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นก็ได้ แต่ก่อนผมไม่รู้จุดนี้ก็ทานกันไป โดยเฉพาะไทยเป็นเมืองร้อน ทุกที่ต้องเสริฟน้ำเย็น เสริฟน้ำแข็งกันเป็นกระติกๆ กินกันจนเป็นเรื่องธรรมชาติ ก่อนหน้านี้ไม่รู้ก็เฉยๆ แต่พอตอนนี้ เห็นแล้วกลัวไปเลยครับ บ้านผมตอนนี้ไม่ทานน้ำแข็งกันแล้ว



.




ข้อสี่ ดื่มน้ำช่วงเวลาไหนกัน ที่บอกให้ดื่มวันละ 8-10 แก้วเนี่ยจะแบ่งกินช่วงไหนระหว่างวันบ้างละ ไหนใครที่ชอบทานข้าวไปจิบน้ำไปบ้างประมาณว่ากินข้าวเสร็จหมดน้ำไปสองแก้ว ยกมือขึ้น ข้อนี้ผมจัดเป็นหายนะอย่างใหญ่หลวงที่สุดเลยครับ เป็นการกินน้ำที่ผิดที่สุดครับ


คนเรามักทำอะไรเพลินเสียจนลืมทานน้ำ พอถึงเวลาว่างซึ่งมักจะเป็นเวลาทานข้าว เขาบอกว่าให้ทานน้ำเยอะก็ทานรวดเดียวไปเลย ผิด ผิด ผิด ผิดแบบไม่น่าให้อภัยเลยครับ เพราะช่วงเวลาที่ทานข้าวนั้น ร่างกายจำเป็นต้องอาศัยน้ำย่อยในการย่อยอาหาร เมื่อคุณกินน้ำเข้าไปเยอะๆแล้ว น้ำย่อยก็จะเจือจาง ก็เข้าสู่ระบบเดียวกับการกินของเย็น คืออาหารไม่ย่อย หมักหมม พิษถูกดูดเข้าเส้นเลือด


เพราะฉะนั้นที่คุณควรทำคือ
ตอนเช้าตื่นมาดื่มน้ำก่อนเลยครับ 2-5 แก้ว เพื่อเป็นการขับพิษออกจากร่างกายทางอุจจาระ ปัสสาวะ ที่ให้ดื่มทันทีเพื่อให้มีระยะเวลาห่างจากอาหารเช้าพอสมควร

ก่อนอาหาร 15 นาที ระหว่างทานอาหาร และหลังอาหาร 40 นาที ทานน้ำได้ไม่เกินครึ่งแก้วครับ ในที่นี้หมายรวมถึงซุป น้ำแกง และของเหลวทุกประเภทนะครับ


และอย่าดื่มน้ำครั้งละมากๆ ให้จิบครั้งละ 2-3 อึก แต่จิบถี่ๆ หาขวดน้ำแก้วน้ำมาวางไว้ข้างตัว จิบไปทั้งวันครับ ถ้ากินน้ำครั้งละมากๆผลก็คือ ร่างกายยังไม่ทันได้ดูดซึมก็ไหลรวดเดียวปัสสาวะออกไปหมดแล้ว อย่างนี้ดื่มน้ำมากแค่ไหนก็ยังหิวน้ำครับ เหมือนน้ำป่ามาครั้งเดียว ทะลักล้นเขื่อนออกไปหมด แล้วจะเอาอะไรกักเก็บไว้ในเขื่อนละครับ


เหมือนทำยาก แต่จริงๆแล้วพอเริ่มทำมันก็ไม่ยากอะไรครับ ผมแต่ก่อนทานน้ำ 2-3 แก้วพร้อมทานข้าว ด้วยเหตุผลสารพัดที่เข้าใจผิดเช่น ควรกินข้าวพออิ่มและทานน้ำเพื่อให้อิ่มจริง หรือกินล้างปากสักหน่อย (กินกันเป็นแก้วล้างปากเนี่ยนะ) หรือต้องสั่งชอคโกแลตปั่นใส่วิปครีมมากิน กินแล้วหวานมันเย็นอร่อยแต่ส่งผลเสียต่อกระเพาะโดยไม่รู้ตัว เบียร์ก็อีกตัวครับ สังสรรค์กันทีกินเข้าไปสิกี่ขวดว่ากันไป ทุกวันนี้เลิกครับ ได้ข้อดีอีกอย่างคือไม่รู้จะเอาเวลาที่ไหนไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะมันควรกินแกล้มอาหาร เลยได้เลิกเหล้าเลิกเบียร์กันไป

แต่ก่อนหลังทานข้าวเสร็จผมจะเรอตลอด ท้องอืดมาก ก็งง หรือว่าเรากินเยอะไป แต่บางทีกินไม่เยอะก็เรอตลอด เสียบุคลิกมาก พอมารู้ตรงนี้ถึงได้ถึงบางอ้อ กินน้ำเยอะอย่างนี้แล้วอาหารจะย่อยยังไงมันก็เลยเกิดลมเกิดแก้สซิ พอเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มน้ำใหม่ อาการเหล่านี้ก็ดีขึ้นเรื่อยๆครับ

นอกจากนี้หลังอาหารยังไม่ควรทานผลไม่ล้างปากทันที อีกด้วยครับ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็นทั้งหลาย เช่น ส้ม แก้วมังกร สาลี่ แตงโม เป็นต้น มีสองเหตุผลครับ หนึ่งเพราะว่าผลไม้จะย่อยเร็วกว่าอาหาร อาหารยังย่อยไม่เสร็จ ผลไม้ก็ค้างเติ่งอยู่ในกระเพาะ ร่างกายก็ดูดซึมสารอาหารจากผลไม้เหล่านี้ไม่ได้ พอไปถึงลำไส้ถึงคิวที่มันจะได้ดูดซึมมันก็เน่าเสียไปหมดแล้วครับ เพราะฉะนั้นถ้าจะทานผลไม้ควรทานก่อนหรือหลังอาหารสัก 1-2 ชม. ขณะท้องว่าง เพื่อให้ร่างกายได้ดูดซึมวิตามิน สารอาหารและไม่รบกวนระบบการย่อยอาหารด้วย เหตุผลที่สองคือ น้ำย่อยในกระเพาะถือว่าเป็นธาตุไฟครับ ถ้าทานผลไม้ฤทธิ์เย็นเข้าไปก็จะส่งผลให้อาหารย่อยไม่ดี เกิดวงจรอุบาทว์ดังเช่นข้างบนอีกเหมือนกัน

.



มาถึงข้อสุดท้ายแล้ว เป็นไงบ้างครับ คอตกรับผิดกันเป็นแถวเชียว ยังครับมารับรู้ความผิดของตัวเองกันในข้อนี้ต่อ ทานน้ำอะไรกันครับ บางคนชอบทานน้ำอัดลมมาก ดื่มทุกวัน ไตก็ต้องทำงานกรองน้ำให้สะอาดหนักกว่าเดิม
เครื่องกรองน้ำยี่ห้อแอมเวย์สามารถกรองโค้กให้กลายเป็นน้ำเปล่าได้ แต่อายุการใช้งานไม่ถึงปีก็ต้องเปลี่ยนหัวกรอง ทว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนไตได้ครับ ถ้ายังอยากให้ไตอยู่คู่กับเรานานๆแล้ว คุณคงรู้ว่าต้องทำอย่างไร อีกอย่างน้ำอัดลมน้ำเป็นน้ำที่ผ่านกรรมวิธีทางเคมี ใส่น้ำตาลจำนวนมาก กินเข้าไปมีแต่ผลเสียครับ ยิ่งอัดแก๊สอีก กินเข้าไปท้องก็อืด การย่อยอาหารก็ไม่ดี เสียเงินไปทำร้ายร่างกายตัวเองเปล่าๆ

พวกชาพร้อมดื่มบรรจุขวดก็เหมือนกันไม่มีอะไรนอกจากน้ำตาลและคาเฟอีนปริมาณมากผสมน้ำนำมาขาย แต่ถ้าเป็นชาจีนร้อนๆชงจากกาก็ควรจะเว้นระยะหลังอาหารสักครึ่งชม.ครับ เพราะชามีฤทธิ์เย็น ทำให้อาหารไม่ย่อย รวมทั้งยังส่งผลต่อร่างกายในการดูดซึมธาตุเหล็กและโปรตีนอีกด้วย กาแฟก็ไม่ควรทานอย่างที่เคยพูดไว้ บางคนเถียงข้างๆคูๆ "กาแฟหอมนะหมอ" หอมครับผมไม่เถียง แต่มันไม่ดีครับ เดี๋ยวไอเดียบรรเจิดไม่เป็นหมอแล้ว ผลิตยาดมรสกาแฟดีกว่า ท่าจะรุ่ง

.



ครบห้าข้อแล้ว โอย เหนื่อย เอนทรี่นี้ยาวเป็นบ้า แต่ก็จำเป็นต้องเขียน เพื่อประโยชน์สุขของมวลชน 555 ว่าไปนั่น ที่เขียนมาให้อ่านนี้เพราะหวังดีจริงๆครับ อยากให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างถูกต้องเพื่อจะได้ห่างจากโรคภัยไข้เจ็บ อย่างที่บอกครับ หมอไม่อยากรักษาคนไข้หรอกครับ และหมอที่ดีที่สุดคือตัวคนไข้เอง เพราะพวกผมไม่มีทางอยู่กับคุณได้ตลอด ความสำเร็จไม่ใช่ได้มาเพียงชั่วข้ามคืน แต่ต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างยาวนาน สุขภาพที่ดีไม่ใช่ว่าป่วยแล้วไปหาหมอ ได้ยามาทานแล้วหาย แต่เป็นหน้าที่ของตัวคุณเองที่ต้องดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง


ขอให้พวกเราชนะโดยไม่จำเป็นต้องออกกระบวนท่าครับ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

การเป็นแพทย์ที่ดี

กฎของการเป็นแพทย์ที่ดี

รูปภาพของ blogmassive

มีนิสิตนักศึกษาแพทย์กลุ่มหนึ่งวันนั้นเป็นวันที่พวกเขาจะได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่เป็นครั้งแรก พวกเขาตื่นเต้มมาก ศาสดาจารย์เลยกล่าวยขึ้นมาว่าการเป็นแพทย์ที่ดีต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. "การเป็นแพททีดีต้องไม่กลัวเมื่อต้องสัมผัสกับศพ" ศาสดาจารย์เลยทำให้ดูเป็นตัวอย่างโดยการเอานิ้วชี้สวนเข้าไปในรูทวารหนักของศพและก็ให้นิสิตนักศึกษาแพทย์ทุกคนทำที่ละคนจนครบทุกคน

2. "การเป็นแพทที่ดีต้องไม่รู้สึกรังเกียจ" ศาสดาจารย์เลยทำให้ดูเป็นตัวอย่างก่อนโดยการเอานิ้วชี้ที่เพิ่งสวนทวารหนักของศพไปนั้น ยัดเข้าไปในปากของตัวเอง แล้วก็ให้นิสิตนักศึกษาแพททำตามโดยที่นักศึกษาแพทก็รู้สึกสะอิดสะเอียน แต่ก็ต้องฟืนทำทำจนครบทุกคน

เอาละถึงข้อสุดท้ายแล้ว

3. ข้อสุดท้าย "การเป็นแพทที่ดีต้องรู้จักช่างสังเกต" เมื่อกี้นี้อาจายร์ได้ใช้นิ้วกลางสวนเข้าไปในทวารหนักแทนนิ้วชี้!

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

อยากเป็นหมอ

ผมอยากเป็นหมอ

สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น พลพรรคนิสิตแพทย์จุฬาฯจึงพร้อมใจกันจัด "ค่ายอยากเป็นหมอ"ให้นักเรียนมัธยมปลายได้เจอ "ของจริง" ร่วมประสบการณ์หวีดผ่าชันสูตรพลิกศพ แอยู่เวรร่วมกับรุ่นพี่ กานต์ดา บุญเถื่อน สังเกตการณ์

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : "ใครอยากเป็นหมอยกมือขึ้น" อนุพันธ์ ตันธณาธิป เสียงนิสิตแพทย์หนุ่ม ปี 4 บิ๊กบราเธอร์จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถามบรรดาหนุ่มสาววัยทีนที่มาเข้า "ค่ายอยากเป็นหมอ" ที่นิสิตแพทย์รุ่นพี่ร่วมกันจัดกิจกรรมเปิดบ้าน

อานันท์ พุทธรักษา หรือเบิร์ด นักเรียนชั้น ม. 6 จากโรงเรียนชลราษฎรอำรุง จ. ชลบุรี บอกแรงบันดาลใจว่า สมัยเด็กเค้าเคยป่วยเป็นโรคผิวหนังหัวใจรั่วมาตั้งแต่เกิด และเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จนหายเป็นปกติ ใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป เลยกลายเป็นความรักฝังใจอยากเป็นหมอ จุฬาฯมาโดยตลอด "ที่นี่หมอเก่งๆอยู่รวมกันเยอะ" เบิร์ดหน่มเมืองชลร่างท้วมเล่าประสบการณ์ "รักแรกผ่า"ค่ายอยากเป็นหมอปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 17 แล้ว มีนิสิตแพทย์รุ่นพี่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเล่าประสบการณ์และสาธิตชีวิตแพทย์ให้นักเรียนมัธยมปลายที่ตั้งใจสอบเอนทรานซ์เข้าเรียนคณะแพทย์ศาสตร์

เบิร์ดและเพื่อนต่างสถาบันจำนวน 120 คนส่งตัวเองเข้าร่วมค่ายอยากเป็นหมอที่จัดขึ้นช่วงปิดเทอมภาคหนึ่ง และร่วมใช้ชีวิตกับนิสิตแพทย์เป็นเวลา 4 วัน แบ่งออกเป็น 12 บ้าน บ้านละ 10 คน มีตั้งแต่ชื่อธรรมดาอย่างบ้านเด็กวัด เด็กเมื่อวานซืน เด็กเลี้ยงแกะไปจนถึงเด็กแอ๊บทุกคนต่างยกย่องให้เบิร์ดเป็นนักกิจกรรมเบอร์ 1 ประจำค่าย เนื่องจากทุกครั้งที่นิสิตแพทย์มีการเอ่ยขออาสาสมัคร ร่างอันตุ้ยนุ้ยของเบิร์ดมีอันต้องออกไปยืนเป็นนักแสดงจำเป็น และบางครั้งก็จำใจ เรียกเสียงฮาพร้อมกับน้ำหูน้ำตาเล็ดออกมาอย่างไม่รู้ตัว

"สิ่งที่ได้จากค่ายอยากเป็นหมอนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากหนังสือตำราเรียน นิตยสาร หรือว่าสารคดีที่หาอ่านได้ทั่วไป แม้แต่สถานกวดวิชาที่ไหนๆก็ไม่มี เพราะการมาเข้าค่ายทำให้เราได้มาเรียนรู้และสัมผัสจากพี่นิสิตแพทย์ตัวเป็นๆแบบสงสัยอะไรก็ถามได้เลย" อานันท์ บอกเล่าความรู้สึกจากการเข้าค่าย

วัดใจคนอยากเป็นหมอ

กิจกรรมระทึกขวัญที่ยากจะลืมเป็นบทแรกพิสูจน์ใจคนอยากเป็นหมอ เริ่มจากร่วมสังเกตการณ์การสาธิตผ่าสมองของอาจารย์ใหญ่อย่างใกล้ชิด ตามมาด้วยการชันสูตรพลิกศพที่พึ่งจะสิ้นลมไปไม่ถึง 48 ชั่วโมง มาผ่าตัดสมองทำการชันสูตรให้ดู ท่ามกลางบรรยากาศที่เย็นเยือกไปทั้งตัว และอบอวลไปด้วยกลิ่นน้ำยาฟอร์มาลิน "สิ่งที่เห็นข้างหน้าไม่มีอะไรเทียบได้เลย เริ่มตั้งแต่ก้าวเข้าห้องเย็น จ้องมองการทำงานของหมอและนิสิตชนิดห่างกันไม่เกิน 3 เมตร เห็นทุกขั้นตอนตั้งแต่หยิบจับเครื่องมือค่อยๆกรีดเนื้อบริเวณศรีษะเพื่อชันสูตรหาสาเหตุการตาย" เด็กอะคาเดมี แฟนเทเชียค่ายหมอเล่าประสบการณ์ระทึกขวัญ

เบิร์ดบอกว่า เขาอยากเป็นหมอด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่หาความเป็นธรรมให้แก่เพื่อนมนุษย์

"ถามว่ากลัวผีไหม ผมไม่กลัวนะเพราะเชื่อว่าถ้าเราทำดีมีเจตนาช่วยเขา ผีก็จะไม่มาหลอกเราให้กลัวอย่างแน่นอน" พูดพลางหันซ้ายหันขวาอย่างระแวง เขาใช้เวลาเตรียมพร้อมสำหรับการสอบเป็นแพทย์ราว 5 ถึง 6 เดือน โดยเลือกอ่านวิชาเฉพาะที่จะต้องสอบ และไม่ได้เข้าติวเสริมพิเศษที่ไหนเหตุเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมที่โรงเรียนมากจนไม่มีเวลาเหลือที่จะไปทำกิจกรรมอย่างอื่น แต่เขาเชื่อว่าหากตั้งใจเรียนในห้องแพยายามแก้ปัญหาที่เราไม่เข้าใจให้กระจ่างได้แล้ว ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการลงแข่งในสนามสอบของการเป็นนิสิตแพทย์ได้ไม่ยาก

"อาชีพหมอเป็นอาชีพที่ต้องเสียสละ มีจรรยาบรรณ ไม่เอาเปรียบคนไข้ ไม่ว่าคนไข้จะรวยหรือว่าจนก็ต้องรักษาด้วยความเท่าเทียมกัน ไม่เปิดคลีนิกทำการรักษาที่มีรูปแบบไปในทางหลอกล่อหรือเอาเงินคนอื่น" ไพโรจน์ ลงกา นักเรียน ม. 6 จากโรงเรียนปราจิณราษฎรบำรุง จ. ปราจีนบุรี ฉายภาพหมอในความคิด ไพโรจน์ บอกว่า การเข้าร่วมค่ายอยากเป็นหมอนอกจากสนองความต้องการส่วนตัวแล้ว ยังอยากรู้จักชีวิตหมอใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นเพื่อให้รู้ว่า ถ้าได้เข้าเรียนคณะแพทย์อย่างที่ตั้งใจ ต้องเผชิญกันอะไรบ้าง และต้องใช้ชีวิตอย่างไร

แรงบันดาลใจอยากเรียนหมอของไพโรจน์มาจากป้าของเขาซึ่งป่วยมีเนื้องอกในสมองและลุกลามไปกดทับเส้นประสาทตาทำให้มองไม่เห็น จนต้องเข้ารักษาด้วยการผ่าตัด เขายังมีป้าอีกคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ทั้งสองคนอยากให้เรียนหมอเพื่อมาช่วยดูและท่านยามแก่เฒ่าหรือยามที่เจ็บปป่วย

"แต่สุดท้ายแล้วทางเดินที่ผมเลือกอาจจะเรียนเป็นหมอสูติ หรือหมอทันตกรรมก็ได้เพราะส่วนตัวแล้วผมไม่ชอบผ่าตัด เนื่องจากเป็นคนที่ค่อนข้างกลัวเลือดกลัวการผ่าตัดอยู่บ้าง" ไพโรจน์กล่าว ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่เขาไม่อยากเป็นศัลยแพทย์เพราะกลัวเกิดการผิดพลาดอาจทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวมากกว่าเดิม

เขาบอกว่าการเข้าค่ายอยากเป็นหมอของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยช่วยให้เขามีประสบการณ์ตรงที่ไม่สามารถหาได้ที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมแนะนำการเรียน การได้มาสัมผัสกับอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ใช้เรียนโดยตรง จนมั่นใจมากขึ้นว่าจะเลือกสอบเข้าเรียนต่อที่คณะแพทย์จุฬาฯให้ได้ แม้ว่าสถาบันจะมีที่รองรับเพียง 120 ที่เท่านั้นก็ตามไพโรจน์พูด

ค้นหาตัวเองให้เจอ

สำหรับน้องยา หรือ ธนัฎฐา ฮะอุรา นักเรียนชั้นม.6 จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.สตูล เปิดใจว่า สาเหตุที่อยากเป็นหมอแม้จะกลัวเลือดกลัวเข็ม เพราะน้องชายประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ล้มจนเกือบต้องตัดขาทิ้ง เธอยังได้ฝึกงานที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งช่วงที่เรียนอยู่ชั้น ม.4 และมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการดูและผู้ป่วยเบื้องต้น การจ่ายยา การรักษา เคยคลุกคลีชีวิตการทำงานของหมอในโรงพยาบาลดังกล่าว ส่วนที่เข้าร่วมค่ายอยากเป็นหมอเพราะอยากรู้ว่า การเป็นหมอได้ต้องเจอกับอะไรบ้าง

ยา บอกว่า เธอประทับใจกับการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายอยากเป็นหมอมากและขยายความให้ฟังเพิ่มว่า กิจกรรมที่พี่นิสิตนำมาให้เรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นการฝึกเจาะเลือดจากแขนเทียมเลือดเทียม การฝึกสวมถุงมือ การฝึกเย็บแผลด้วยเข็มของหมอจริงๆ กับหมอนจำลอง การดูอาจารย์ใหญ่ การขึ้นเวรกับพี่นิสิตชั้นปี 5 ทั้งเวลาเช้าและเย็นเพื่อดูการทำงานของของนิสิตแพทย์ และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายช่วยให้รู้จักชีวิตนักเรียนแพทย์มากขึ้น

"ตอนนี้หนูอยู่ม. 6 แล้ว เป็นช่วงที่สำคัญมากของชีวิตเพราะต้องตัดสินใจว่าจะเรียนต่ออะไร เพื่ออนาคตตัวเอง" ธอบอกว่าช่วงก่อนจะสอบเอนทรานซ์ของทุกปีจะมีค่ายที่เปิดโอกาสให้เลือกสมัครเข้ามาค้นหาตัวเองมากมายเป็นโอกาสที่ควรไขว่คว้าไม่ว่าค่ายอะไรก็ตาม เพราะไม่เพียงประสบการณ์เท่านั้นที่จะได้รับ แต่จะช่วยค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ และถนัด โดยไม่ต้องเสียเวลาและทุนเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบภายหลัง

กิจกรรมที่พี่นิสิตนำมาให้เรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นการฝึกเจาะเลือดจากแขนเทียมเลือดเทียม การฝึกสวมถุงมือ การฝึกเย็บแผลด้วยเข็มของหมอจริงๆกับหมอนจำลอง การดูอาจารย์ใหญ่ การขึ้นเวรกับพี่นิสิตชั้นปี 5 ทั้งเวลาเช้าและเย็น และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายทำให้เรารู้มากขึ้นกว่าเดิมว่าที่จริงแล้วหมอต้องเรียนอะไรบ้าง" น้องยากล่าว

ขณะที่เพื่อนๆในค่ายต่างวาดฝันความเป็นนิสิตแพทย์อยู่นั้น ลลนาวัลย์ มนตรีธรสาร นักเรียนชั้นม. 5 จากโรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เขตบางรัก กลับคิดไปว่า เธอจะเรียนหมอสาขาไหนดีระหว่างเภสัชวิทยา ทันตแพทย์ เพราะเริ่มรู้แล้วว่าการเรียนเป็นหมอ ชีวิตจะไม่ใช่ของเราอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นของคนอื่นไปเลย นอนก็ไม่เป็นเวลาพักผ่อนก็ไม่เป็นเวลาด้วย

"หมอเป็นอาชีพที่ค่อนข้างเสียสละชีวิตของตัวเองเพื่อคนอื่น ต้องมีความรับผิดชอบ อดทน มีความสามารถรับผิดชอบ เป็นอะไรที่เหนื่อยแหนักมาก ส่วนตัวแล้วหนูคิดว่าตัวเองเรียนหมอได้ แต่ยังไม่รู้ว่าชอบหรือไม่ จึงลองมาเข้าค่ายอยากเป็นหมอของคณะแพทย์จุฬาฯดู เพราะส่วนตัวแล้วชอบเรียนเลข และชีวะ แต่ยังไม่แน่ใจตัวเองว่าอยากเป็นหมอด้านไหนดี" ลลนาวัลย์ กล่าว

ลลนาวัลย์ กล่าวอีกว่า การจะสอบเอนทรานซ์ให้ติดนั้นไม่ว่าคณะอะไร ที่สถาบันไหนก็ตาม เราควรมีความเตรียมพร้อมด้วยการอ่านหนังสือหรือทำแบบฝึกหัดให้เข้าใจก่อนที่จะถึงเวลาลงสนามสอบโดยสะสมมาเรื่อยๆและหากเริ่มได้ตั้งแต่ชั้นม. 4 ได้ยิ่งดี เพราะนั่นหมายความว่าเรามีชัยไปกว่าครึ่งนั่นเอง

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

ประสบการณ์ของการเป็นแพทย์

นายแพทย์นพดล วานิชฤดี จากสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวถึงเทคนิคการจูงใจทีมงาน และวางกลไกในการขับเคลื่อน ดังนี้

1. ใจต้องมาก่อนงาน คิดถึงใจของคนในองค์กร ใจคนทำงานมีความพร้อมแค่ไหน

2. เรียนรู้ธรรมชาติของคนว่าต้องการโอกาสที่จะได้คิดอย่างอิสระ ต้องการการยอมรับ และความเข้าใจ ดังนั้น ควรทำให้เกิดความสมดุลระหว่างธรรมชาติของคน การพัฒนาคนและการจัดการความรู้

3. เข้าใจบริบทขององค์กร เช่น บรรยากาศ วัฒนธรรมขององค์กร

4. ไม่กดดันเรื่องเอกสาร เอกสารที่ล้นเกินไปทำให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกกังวล และรู้สึกเป็นภาระ การจัดทำเอกสารเพื่อมุ่งไปสู่การสื่อสาร และสนับสนุนการทำงาน

5. สร้างให้เกิดการทำงานเป็นทีม ควรสร้างความมีส่วนร่วม ซึ่งต้องอาศัยศาสตร์ของภาวะผู้นำ

6. เน้น Human KM คือมุ่งการพัฒนาคน ไม่ใช่ผลักดันให้เกิดสินทรัพย์ความรู้มาก ๆ

7. CKO ควรมองเห็นภาพชัดเจนว่า KM ช่วยพัฒนาบุคลากรอย่างไร และมีเป้าหมายว่าจะนำความรู้ที่ได้รับการจัดการแล้วไปใช้ประโยชน์อย่างไร เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคลากรในองค์การ รวมทั้งเชื่อมโยงกับหน่วยงาน HRD ให้มากที่สุด

8. กลั่นกรองเครื่องมือที่จะนำมาใช้ให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กร เช่น ผสมผสาน KM กับ HA ของโรงพยาบาล ซึ่งจำเป็นต้องเข้าใจแนวคิดแล้วนำไปสู่การบูรณาการให้ได้

เปรียบเทียบระหว่าง KM กับ HA ก็คือการพัฒนาคุณภาพ 3 ขั้นตอน คือ 1) พัฒนาคนที่ใจ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเห็นคุณค่าของตนเอง ให้ทีมรู้สึกว่าเขาสำคัญต่อเรื่องที่ทำอย่างไร 2) ให้ผู้ปฏิบัติงานเห็นศักยภาพของผู้อื่น คนอื่นมีความหมาย มีความสำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยกล่อมเกลาในการสร้างบรรยากาศแห่งมิตรภาพ เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนากระบวนการคิดของคน 3) นำระบบ มาตรฐาน หรือเครื่องมือลงไป พร้อมกับกำหนดเป้าหมาย นั่นคือ HA เป็นเครื่องมือที่ช่วยฝึกคนให้หาโอกาสในการพัฒนา

นั่นคือ CKO ควร

· เข้าใจในปรัชญา หลักการ คุณค่า และมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือที่จะนำมาใช้ เข้าใจบริบทขององค์กร

· เข้าถึงใจคน มี empathy

· มีมุมมองในเชิงบวก มองเห็นส่วนดีของทีมงาน มีความคิดเชื่อมโยง เชื่อมต่อแนวคิดหลักของ KM คือมองเห็นข้อดีของกันและกัน เฉกเช่นการมองผลสัมฤทธิ์ที่เป็น Best Practice หรือ Good Practice แทนที่จะมองแต่ปัญหา

· มีความเป็นผู้นำ สามารถบอกเป้าหมายได้ ทำหน้าที่ empowerment ซึ่งจะทำให้ทุกเรื่องง่ายขึ้น และทำได้ดี มองเห็นแนวทางในการดำเนินงานว่าสิ่งใดควรทำ และสิ่งใดจำเป็นต้องทำ

แนวทางในการ empowerment ได้แก่

1) พูดเรื่องยากให้เข้าใจง่าย

2) ให้แนวทางสำคัญที่ควรทำอย่างเป็นขั้นตอน เชื่อมโยงสิ่งที่ต้องทำต่อไป เน้นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน

3) ชื่นชมสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานทำเสร็จแล้ว ให้กำลังใจว่าสิ่งที่ทำผ่านมานั้นยาก แต่เขาผ่านมาได้แล้ว และมาถูกทางแล้ว ควรพูดให้ผู้ฟังรู้สึกสบายใจ มี”ใจฮึกเหิม อยากทำเพิ่มให้สำเร็จ” กระตุ้นให้ทำงานเป็นทีม

4) ใช้ระบบการดูงานเพื่อเพิ่มพูนมุมมองให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน หรือให้ผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานอื่น ๆ นอกโรงพยาบาล มีโอกาสได้นำเสนอผลงานให้ปรากฎ หน่วยงานอื่น ๆ ก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย ได้ความรู้และพัฒนาตนเอง หากผลงานนั้นเป็น Best Practice หน่วยงานอื่น ๆ ก็สามารถนำไปใช้ได้เลย ไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

ยิ่งไปกว่านี้ อยากเสนอให้ผู้ที่ทำหน้าที่ CKO กับ หัวหน้าทีม HA เป็นคน ๆ เดียวกันจะทำให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะทั้ง HA และ KM ต่างก็มีหลักการเพื่อพัฒนางาน พัฒนาองค์การเหมือนกัน ยกตัวอย่าง ถ้า HA ของตึกผู้ป่วยใดถึงระดับ Best Practice ก็สามารถแทรกซึมแบ่งปันสู่ตึกผู้ป่วยอื่น ๆ ได้ ดังนั้น ต้องเชื่อมโยง Best Practice กับโอกาสการพัฒนาให้ได้

ในกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็อาจคิดรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมา ไม่จำเป็นต้องเป็น CoP เสมอไป หรืออาจใช้วิธีการทดลองทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จนสามารถได้ข้อค้นพบใหม่และสร้างเป็นนวตกรรมขึ้น ยกตัวอย่าง กลุ่มงานกายภาพบำบัด เขาต้องรู้ว่าใครคือ Stakeholder อาจเป็นหน่วยกายภาพบำบัดจากโรงพยาบาลอื่น ๆ เขาต้องมองว่าเขาจะพัฒนาอะไร ถ้าเขาไม่สนุกที่จะสกัดความรู้ก็เพราะเขายังมองไม่เป็นประโยชน์ของการสกัด ต้องให้เขาเห็นประโยชน์ก่อน ยกตัวอย่าง ถ้าเขาคิดจัดการองค์ความรู้เรื่องการใช้ถุงน้ำร้อนประคบคนไข้ เขาอาจจัดการความรู้ร่วมกับนักกายภาพบำบัดจากโรงพยาบาลอื่น ๆ แล้วนำความรู้ที่ได้ไปทดลองใช้ ทำซ้ำ ๆ จนได้ข้อสรุปที่เป็น Best Practice และสามารถผลิตเป็นนวตกรรมใหม่ขึ้นมาได้

“นางสุดา วงศ์สวัสดิ์“ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 2 เล่าประสบการณ์การเป็น CKO ว่า

ครั้งแรกที่ได้รับมอบหมายให้ใช้ KM เป็นเครื่องมือในการจัดการความรู้เพื่อผลักดันตัวชี้วัดตามยุทธศาสตร์ที่ 1 ของกรมสุขภาพจิต คือ การเสริมสร้างศักยภาพของประชาชนในการดูแลสุขภาพจิต เข้าถึงบริการสุขภาพจิตและให้โอกาสผู้ที่อยู่กับปัญหาสุขภาพจิต ในครั้งนั้นความรู้เรื่อง KM ยังไม่แตกฉาน ก็เกิดความรู้สึกกังวลและเครียด ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องจัดการคือ

1. ปรับความคิดของตนเองว่า เมื่อรับมอบหมายให้ทำงานที่ ไม่รู้ จะเป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ชัดเจน กล่าวได้ว่า CKO ต้องมีใจพร้อมสู้และลุยงาน

2. วิเคราะห์ว่างานที่จะทำต้องใช้ความรู้อะไรบ้าง และความรู้นั้นมีใครเป็นผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ แสวงหาผู้ช่วย จึงไปติดต่อประสานงานกับกลุ่มงานพัฒนาระบบงานสุขภาพจิต ของสำนักพัฒนาสุขภาพจิตซึ่งมีความรู้เรื่องการจัดการความรู้และรับผิดชอบงานนี้โดยตรง ประสานทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

3. สอดส่อง ค้นหาและสร้างแนวร่วม พูดคุยเพื่อค้นหาว่าใครสนใจและอยากทำ ใครที่มีความมุ่งมั่น ก็พบว่าผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 10 พร้อมที่จะจับมือกับเราเพื่อผลักดันงานร่วมกัน

4. มองหาทีมงาน ขอความร่วมมือให้แต่ละศูนย์สุขภาพจิตส่งคนที่จะร่วมจัดการความรู้กับเรามาให้

5. เริ่มดำเนินการ ทำตั้งแต่ขั้นแรกคือจัดทำแผนก็เชิญพี่ ๆ จากสำนักพัฒนาสุขภาพจิตมาให้แนวคิด มีการบ่งชี้ความรู้ สร้างและแสวงหาความรู้ ตามขั้นตอนต่าง ๆ ทั้ง 7 ขั้นตอนของ KMP ที่สำคัญคือ ในการแบ่งหน้าที่กันทำงาน ควรแบ่งงานตามความสนใจและเชี่ยวชาญ จะทำให้ทีมงานทำงานอย่างมีความสุข เช่น ใครถนัดเล่าเรื่อง ใครถนัดร้อยเรียง จะทำให้การขับเคลื่อนงานเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วขึ้น

เงื่อนไขความสำเร็จอยู่ที่การได้ใจทีมงาน การให้กำลังใจและการได้รับกำลังใจจาก CKO กรมสุขภาพจิต ตลอดจนทีมสำนักพัฒนาสุขภาพจิตที่คอยสนับสนุนด้านวิชาการ

การทำงานเป็น CKO ได้ทำทั้งการบริหารและการจัดการ ทำงานคลุกกับทีมงาน คอยอำนวยความสะดวกให้กับทีมอย่างเกาะติด สนับสนุนให้ทีมทำงานสะดวกขึ้น เช่น หาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยให้ข้อเสนอแนะ จัดเตรียมอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการดำเนินงาน คอยดูแลเรื่องอาหารการกิน จัดบรรยากาศให้คนทำงาน ทำงานอย่างมีความสุข เช่น พาไปทำงานนอกสถานที่ คอยให้กำลังใจและอยู่ร่วมกับทีมงาน ให้ทีมงานรู้สึกว่าเราให้ความสำคัญกับงานที่เขาทำ

“ทุกคนมีส่วนสำคัญในการทำงาน” เป็นคำกล่าวที่ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 2 ย้ำเตือน ถ้าหากใครขาดหายไป งานจะเว้าแหว่ง ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ในการนัดเวลาเพื่อทำงานร่วมกัน จะให้ทีมงานเป็นผู้กำหนดเวลา ไม่ใช่ CKO เป็นผู้กำหนดและสั่งการ

ในเรื่องของเทคนิคการสร้างแรงจูงใจ สรุปได้ ดังนี้

1. “ทีมงานคือบุคคลสำคัญ” ให้ใจกับทีมงาน แสดงความจริงใจ เอื้ออำนวยความสะดวก และคอยให้กำลังใจ

2. สร้างความสัมพันธ์ส่วนตัว

3. สร้างความมีส่วนร่วม งานที่ทำเป็นของทุกศูนย์ร่วมกัน

4. ค้นหา “Key Person” รู้ความถนัดและเชี่ยวชาญของแต่ละคน ให้เกียรติ ให้การยอมรับทีมงาน ใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตน และไม่อายที่จะบอกว่า “ไม่รู้” แต่พร้อมที่จะเรียนรู้ สร้างความกลมเกลียวภายในทีมงาน และทำให้ทีมงานเกิดความไว้วางใจกัน

จากการทบทวนประสบการณ์การทำงานมาสองปี เราเน้นการทำงานเป็นทีม การสร้างความมีส่วนร่วมและการทำงานอย่างมีความสุข โดยสร้างบรรยากาศอิสระ ไม่กดดัน เพราะงานที่ทำต้องใช้การสะสมข้อมูล ใช้ความคิดวิเคราะห์/สังเคราะห์ ใช้ทักษะในการถ่ายทอดและร้อยเรียง จึงต้องทำงานนอกสถานที่บ้าง ทำให้ความสำเร็จของงานเป็นของทุกคน ทีมงานต้องไว้วางใจกัน จริงใจกัน จึงจะเกิดการแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน และที่สำคัญที่สุด ต้องเริ่มต้นจาก CKO ซึ่งต้องลงมือทำและทำให้ทีมงานมั่นใจว่าเราเอาจริง และเรามีความมุ่งมั่นที่จะทำอย่างแท้จริง

สรุปบทเรียนการจัดการความรู้ในฐานะ CKO

1. ได้รู้ว่า KM เป็นเครื่องมือที่มีคุณค่า เพราะความรู้ที่ได้จะเป็นความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริง จับต้องได้ ซึ่งทำให้คนทำงานมีความรู้จริงและเป็นความรู้ที่มีความยั่งยืน

2. สอนให้เราได้พัฒนาตนเอง ยอมรับทุกความคิดของทุกคน ได้รู้ว่าถ้าฟังอย่างตั้งใจ จะทำให้เก็บเกี่ยวสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย

3. ความสำเร็จอยู่ที่การสร้างความมีส่วนร่วม ทุกคนมีความเป็นเจ้าของงานร่วมกัน ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเราอยู่ในเรือลำเดียวกัน ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยกันพายเพื่อไปให้ถึงฝั่ง และทุกคนคือบุคคลสำคัญ

4. เริ่มที่ตัวเองก่อน ถ้า CKO ไม่ขยับ ทุกอย่างจะไม่เขยื่อน

5. ให้ความเป็นกัลยาณมิตร แล้วเราจะได้มิตร การทำงานเป็นทีมทำให้ได้มิตรเพิ่มขึ้น มิตรที่ร่วมฟันฝ่าอุปสรรค จนเข้าใจกันและพูดภาษาเดียวกัน

“แพทย์หญิงนฤมล จินตพัฒนาจิต” จากโรงพยาบาลศรีธัญญา เปิดใจเล่าว่า เริ่มรับงานครั้งแรกด้วยความไม่รู้ในเรื่อง KM อย่างชัดเจน ต้องทำงานไปเรียนรู้ไป พยายามปรับตัวและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ทัศนคติของคนทำงานเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งการได้รับความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจจากทีมงาน ต้องบอกว่าประทับใจทีมงานมาก ทั้งทีมในในหน่วยงานและทีมงานจากหน่วยงานอื่น ๆ มีการให้ความช่วยเหลือกันตลอดเวลา เรียกว่ามีหัวใจของการเป็น ผู้ให้ อย่างแท้จริง เพราะส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้คือ Knowledge Sharing โดยมียุทธศาสตร์ วิสัยทัศน์เป็นเป้าหมาย สิ่งที่ค้นพบคือจะได้ข้อมูล TK ส่วนใหญ่จาก Story Telling แต่บรรยากาศต้องเป็นกันเอง รู้สึกถึงความเป็นพี่น้อง ความเป็นเพื่อน และรู้สึกสบายใจที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ไม่ติเตียนกัน แต่ชื่นชมและให้กำลังใจกัน

การจัดการความรู้ไม่มีวิธีที่ตายตัว เราสามารถเปิดโอกาสให้ทุกคนได้คิดวิธีการสื่อสารและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างอิสระ และรักษา connection กันให้เหนียวแน่น การนำเครื่องมือ KM มาใช้จะทำให้เราได้ทั้งคนและงาน

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS